บ้านม่อนเขาแก้ว เทศบาลเมืองพิชัย ต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการขยะต้นทาง จากหัตถกรรมปั้นมือของชุมชน สู่นวัตกรรม ‘หม้อดินกำจัดขยะเปียก’ ในครัวเรือน ถังหมักหม้อดินรักษ์โลก…เปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์

ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นทุกปี นำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม เทศบาลเมืองพิชัยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการขับเคลื่อนภารกิจด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมการบริหารจัดการขยะต้นทาง ร่วมกับสถาบันการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง นำร่องการทดสอบการจัดการขยะต้นทาง พื้นที่บ้านม่อนเขาแก้ว ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อต่อยอดขยายผลไปยังชุมชนอื่น แนวคิดหลักของการพัฒนาคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
‘บ้านม่อนเขาแก้ว’ มีความโดดเด่นด้านหัตถกรรมปั้นหม้อดินเผา ที่มีการสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นการปั้นด้วยมือ ทำเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงามหลากหลายรูปแบบ หลังการเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะต้นทาง ชุมชนเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ ลดปริมาณขยะทั่วไป สร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิล และที่สำคัญคือการกำจัดขยะเปียก ด้วยการปั้นหม้อดินเผาทรงกระบอกแล้วเจาะรูเล็กๆด้านข้างและเจาะก้นด้านล่าง เพื่อทำ ‘หม้อดินกำจัดขยะเปียก’ ในครัวเรือน สร้างเป็นถังหมักหม้อดินรักษ์โลก ใช้ย่อยสลายขยะมูลฝอยประเภทสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ไม่ให้ปะปนกับขยะทั่วไป ไม่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรค และไม่ส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในเรื่องของธาตุอาหารที่เป็นผลพลอยได้ใช้ในการปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
ซึ่ง ‘หม้อดินกำจัดขยะเปียก’ ในครัวเรือน นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดขยะอินทรีย์ที่เหลือจากครัวเรือน ที่ชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ หลักการทำงานของหม้อดินกำจัดขยะเปียกคือนำเศษอาหารเทเข้าไปในถังหมัก และใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน มาทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยการออกแบบถังทรงกระบอกที่มีการเจาะรู ทำให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศเพื่อให้มีก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ถังหมักได้อย่างทั่วถึง ทำให้จุลินทีย์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการหมักยังคงมีชีวิตอยู่ได้
ผลผลิตที่ได้จากถังหมักหม้อดินกำจัดขยะเปียก คือ ธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นสามารถปลูกผักบริเวณรอบๆ ถังหมักหม้อดิน หรือนำดินจากถังหมักเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ได้ จะเห็นได้ว่าการทำงานของถังหมักหม้อดิน เป็นการเปลี่ยนขยะให้มีประโยชน์ รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการจัดการขยะมูลฝอย ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอย และลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดลง ลดปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ก็คือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ‘บ้านม่อนเขาแก้ว’ เทศบาลเมืองพิชัย เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะการแยกขยะ ไม่ใช่แค่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ สามารถนำงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นๆ รวมทั้งขยะบางประเภทยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด สอดคล้องกับแผนงานการจัดการขยะมูลฝอย ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกขยะ และโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย ระดับครัวเรือน ที่รณรงค์การทำถังขยะเปียกครัวเรือนระบบปิด ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ของจังหวัดลำปาง ตลอดจนเป็นการรวมพลังขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goal: SDGs ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างโลกที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
Leave A Reply

Your email address will not be published.